เชื่อหรือไม่ว่าสีเขียวของผืนหญ้ามีผลต่อความรู้สึกของคนมอง เพราะช่วยให้ผ่อนคลาย ร่มรื่น กระตุ้นไอเดียการทำงานให้ลื่นไหล แต่หญ้าทั่วไปมักจะมีปัญหาคือ ความสวยงามนั้นจะแปรผันไปตามการดูแลเอาใจใส่ การใช้หญ้าเทียมจึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ที่รักในธรรมชาติ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ไม่จำเป็นต้องมานั่งตัดแต่งหญ้าให้สวยเรียบเสมอกัน ไม่ต้องหมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ย และสามารถติดตั้งได้ทุกพื้นที่แม้แต่ในห้องนอนเลยทีเดียว หากคุณกำลังต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน หรือกำลังมองหาหญ้าเทียมสำหรับการตกแต่งร้านคาเฟ่ให้น่านั่ง ลองมาดูบทความ สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อนซื้อพร้อมวิธีการเลือกหญ้าเทียม สำหรับปูพื้นแต่งบ้านทั้งภายในและภายนอก เรื่องนี้กันก่อนที่จะไปเลือกซื้อได้เลยครับ รับรองว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนได้อย่างแน่นอน
สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อนซื้อหญ้าเทียม
- หญ้าเทียม หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Artificial Turf” เป็นเส้นใยสังเคราะห์เสมือนหญ้าธรรมชาติ ให้อารมณ์เขียวขจีคล้ายหญ้าจริง ส่วนใหญ่แล้วมักนำไปทำเป็นสนามฟุตบอลในร่ม หรือกลางแจ้ง สนามกีฬาต่างๆ รวมถึงตกแต่งสวนหย่อมภายในบ้านหรือคอนโด โดยเฉพาะในปัจจุบันนำมาปูเป็นสวนหย่อมในบ้านช่วยให้บ้านที่อยู่ดูสวยเป็นธรรมชาติ สามารถนั่งเล่น นอนเล่น เดินเท้าเปล่าเหยียบได้ นุ่มสบายเท้า โดยหญ้าเทียมสามารถผลิตได้จากพลาสติก 2 ชนิด ดังนี้
- โพลีเอทิลีน Polyethylene (PE) จะมีความเหนียวและยืดหยุ่น ทนต่อการกรอบแตกจึงนิยมนำมาผลิตเป็นหญ้าเทียมเกรดที่ต้องการความคงทน เช่น สนามกีฬา เทนนิส กอล์ฟ งานสวนภายนอก สนามเด็กเล่น ที่ต้องโดนแดดโดนฝน เป็นต้น
- โพลีโพรไพลีน Polypropylene (PP) มีความแข็งแรงทนทานน้อยกว่าโพลีเอทิลีน ทนความร้อนได้ไม่มากเท่า แต่ทนสารเคมีได้ดี มีราคาถูกจึงนิยมนำมาผลิตเป็นหญ้าที่ใช้งานชั่วคราวหรืองานภายในที่ไม่โดนแดดและฝน เช่น งานอีเว้นท์ ออกบูธ ปูแทนพรมในสำนักงาน เป็นต้น
วิธีการเลือกหญ้าเทียม
- ก่อนที่จะเลือกหญ้าเทียม เราต้องมาสำรวจก่อนว่า พื้นที่ที่ต้องการนำหญ้าไปติดตั้งนั้นเป็นบริเวณในร่มหรือกลางแจ้ง จะใช้เพื่อประดับสวนแนวตั้งหรือเพียงปูพื้นเพิ่มความน่านั่งเท่านั้น นั่นเพราะหญ้าเทียมบางประเภทถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างจำกัด และป้องกันความผิดพลาดก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ
- เลือกหญ้าเทียมให้เหมาะสมกับพื้นที่การติดตั้ง เนื่องจากแต่ละคนต้องการใช้หญ้าเทียมในพื้นที่ติดตั้งที่แตกต่างกัน ทำให้หญ้าเทียมต้องมีคุณสมบัติที่เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในด้านการใช้งานจึงควรเลือกใช้หญ้าเทียมให้เหมาะสมกับพื้นที่การติดตั้ง ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
- หญ้าเทียมสำหรับติดตั้งในร่ม หญ้าเทียมสำหรับติดตั้งในร่ม หญ้าเทียมประเภทนี้ทำขึ้นจากเส้นใยพลาสติกโพลิโพรพิลีน (PP) ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น อ่อนนุ่ม แต่ทนต่อความชื้น จึงช่วยลดการสะสมและเกิดกลิ่นเหม็นอับและทนทานต่อสารเคมีในกลุ่มทำละลายด้วยน้ำ แต่ไม่ทนต่อแสงแดดจัด หญ้าเทียมประเภทนี้จะมีราคาถูกนิยมนำมาใช้จัดสวนหรือปูเป็นพรมภายในตัวอาคาร แต่ในกรณีที่เป็นการจัดสวนในร่มหรือบริเวณที่ไม่ต้องโดนแสงแดดโดยตรง สามารถอนุโลมได้
- หญ้าเทียมสำหรับติดตั้งกลางแจ้ง หญ้าเทียมสำหรับติดตั้งกลางแจ้ง ซึ่งต้องโดนแดด ลม ฝน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หญ้าเทียมประเภทนี้ต้องมีการเพิ่มคุณสมบัติให้เส้นใยพลาสติกทนทานต่อแสงแดดไม่ผุกรอบง่าย ทั้งนี้เพราะเป็นพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ที่ผลิตด้วยกระบวนการอัดแรงดัน จึงความทนทานแข็งแรงต่อการเสียดสี ทนต่อการพับงอ ทนต่อทุกสภาวะอากาศ หญ้าเทียมประเภทนี้จึงนิยมนำมาใช้สำหรับปูพื้นสนามกีฬาหรือลานจัดแสดงกลางแจ้ง แม้หญ้าเทียมบางรุ่นจะใช้พลาสติกทั่วไปในการทำเส้นหญ้า แค่ถ้ามีการเคลือบกัน UV ก็สามารถติดตั้งกลางแจ้งได้ ทั้งนี้ หญ้าเทียมสำหรับติดตั้งการแจ้งนี้จะมีราคาสูงกว่าหญ้าเทียมสำหรับติดตั้งในร่ม
- เลือกจากขนาดความสูงของหญ้า ความถี่ และวัสดุที่นำมาทำหญ้าเทียม คุณสมบัติภายนอกของหญ้าเทียมมีความสำคัญต่อวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหญ้าเทียมที่ใช้ปูสนามกลางแจ้งเพื่อการกีฬา เพราะถ้าความสูงของหญ้ามากจนเกินไปจะทำให้การเคลื่อนไหวของนักกีฬาและอุปกรณ์การกีฬาบนพื้นหญ้าเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งกีฬาบางประเภทจะมีการกำหนดความสูงของเส้นหญ้าเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ส่วนการใช้งานภายในร่มหรือการปูพื้นสนามธรรมดานั้นสามารถเป็นเลือกใช้ได้ตามความชอบของผู้ใช้งานและความเหมาะสมของสถานที่ ซึ่งหญ้าเทียมที่มีความสูงของต้นหญ้ามาก มีความถี่ในการถักทอสูงจะให้การสัมผัสที่นุ่มกว่ามีการกระจายน้ำหนักได้ดี ทั้งนี้ ในด้านของวัสดุที่นำมาใช้ทำหญ้าเทียมก็มีความสำคัญต่ออายุการใช้งานเป็นอย่างมาก เนื่องจากหญ้าเทียมบางประเภทไม่สามารถใช้งานกลางแจ้งได้เพราะวัสดุที่ใช้ทำไม่สามารถทนต่อแสงแดดนั่นเอง
- เลือกหญ้าเทียมที่ระบายน้ำได้ดีเพื่อลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ หนึ่งในปัญหาที่พบได้มากในการใช้หญ้าเทียมคือ “กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์” ซึ่งพื้นฐานของการเกิดกลิ่นนั้นมาจากการเจริญเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์บางประเภท หากต้องการขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ คุณจำเป็นจะต้องยับยั้งการเจริญเติบโตของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งวิธีการใช้ยาฆ่าเชื้อที่มาในรูปแบบน้ำยาทำความสะอาด แต่วิธีนี้ก็สามารถเกิดกลิ่นอับบนพื้นหญ้าเทียมได้ นั่นเพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้เจริญเติบโตได้ก็มาจากความชื้นสะสมที่อยู่ภายในหญ้าเทียม ดังนั้นการเลือกหญ้าเทียมที่ระบายน้ำได้ดีจึงเป็นทางเลือกและการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยปกติแล้วหญ้าเทียมที่มีขนาดเส้นหญ้าไม่สูงมากจะสามารถระบายน้ำและคลายความชื้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้เกิดกลิ่นอับ อีกทั้งหญ้าเทียมที่ไม่หนาแน่นมากก็จะช่วยให้ทำความสะอาดง่ายระบายน้ำได้ดีด้วยเช่นกัน
ข้อดีข้อเสียของหญ้าเทียม
ข้อดี
- มีความสวยงามเหมือนจริงดูเป็นธรรมชาติ และสะอาดตา
- อายุการใช้งานยาวนาน 6-8 ปี
- ดูแลรักษาง่ายเพียงฉีดน้ำไล่สิ่งสกปรก
- ประหยัดต้นทุนในการดูแลรักษา ทำความสะอาด อาทิ ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย
- สามารถติดตั้งได้ทั้งภายในที่พักอาศัยและภายนอกที่พักอาศัย ทั้งนี้รวมถึงติดผนังได้ด้วยไม่ใช่แค่ปูบนพื้นเท่านั้น
- สามารถเดิน นั่ง ทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดความเสียหาย
- ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน
- สามารถม้วนเก็บได้ หรือกรณีหลุดสามารถใช้กาวร้อนติดได้ด้วยตนเอง
ข้อเสีย
- ราคาแพงกว่าหญ้าจริงมาก
- อมความร้อนมากและคลายความร้อนช้ากว่าหญ้าจริง
- สามารถติดไฟได้เพราะเป็นพลาสติกและยาง
- สามารถเกิดเชื้อราได้หากมีน้ำขัง
- ยางที่ใช้ปูเป็นพื้นของหญ้าเทียมนี้มีผลกระทบต่อผู้เป็นโรคหอบหืด
วิธีติดตั้งหญ้าเทียม
การติดตั้งหญ้าเทียมนั้นแม้จะดูไม่ซับซ้อน แต่ก็ต้องมีขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมก่อนที่จะทำการติดตั้ง ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- ขั้นแรกจำเป็นจะต้องปรับพื้นที่พื้นผิวที่ต้องการติดตั้ง ให้ปราศจากเศษวัตถุแหลมคมที่อาจทิ่มแทงทะลุแผ่นหญ้าเทียมจนทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้งานได้ พื้นผิวไม่เป็นหลุมขรุขระเพราะอาจทำให้หญ้าเทียมไม่แนบสนิทกับพื้น
- เมื่อทำความสะอาดพื้นผิวเสร็จแล้ว ควรวัดพื้นที่ภายในตลอดจนร่างแปลนหน้าตัดของพื้นผิว เพื่อตัดแผ่นหญ้าเทียมให้เหมาะสมกับพื้นที่
- การติดตั้งหญ้าเทียมกับพื้นผิวนั้น ทำได้โดยการใช้กาวสำหรับติดตั้งหญ้าเทียมโดยเฉพาะ หรืออาจจะใช้กาวยางเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนก็ได้เช่นกัน
- ควรหลีกเลี่ยงกาวประเภทใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เพราะอาจเป็นบ่อเกิดของความชื้นใต้แผ่นหญ้าเทียม และทำให้เกิดกลิ่นอับที่ขจัดไม่หายในอนาคต
- หลังจากทากาวและติดตั้งหญ้าเทียมสำเร็จแล้วควรทิ้งไว้ประมาณ 6 – 12 ชั่วโมง ก่อนการใช้งานเพื่อให้มั่นใจว่ากาวแห้งสนิทไม่ลื่นหลุดขณะใช้งาน
สรุป
สำหรับการทำความสะอาดหญ้าเทียมแบบเบื้องต้นนั้น สามารถใช้ไม้ขนไก่ปัดเศษสิ่งสกปรกหรืออาจจะใช้เครื่องดูดฝุ่นในการดูดทำความสะอาดแบบละเอียดได้ ในกรณีที่หญ้าเทียมสกปรกมากกว่าที่จะทำความสะอาดด้วยสองวิธีข้างต้นนั้น หากเป็นหญ้าเทียมที่ติดตั้งกลางแจ้งก็สามารถฉีดน้ำสะอาดลงบนผืนหญ้าได้เลย แต่ถ้าเป็นหญ้าเทียมที่ติดตั้งภายในบ้านให้ถอดออกก่อนนำไปล้างทำความสะอาด ทั้งนี้ ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของสารฟอกขาว เพราะอาจทำให้หญ้าเทียมที่เคยเขียวขจีเปลี่ยนสีได้นั่นเอง และสุดท้ายนี้ หวังว่าเพื่อน ๆ จะชื่นชอบและได้รับประโยชน์จาก บทความ สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อนซื้อพร้อมวิธีการเลือกหญ้าเทียม สำหรับปูพื้นแต่งบ้านทั้งภายในและภายนอก เรื่องนี้กันทุกคนนะครับ